วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

โลกไร้พรมแดน

         ปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมโลกาภิวัตน์ ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธความเจริญเติบโตที่มาพร้อมกับความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์ จนเกิดคำถามว่ารัฐชาติของไทยจะรักษาระเบียบอำนาจของตนไว้ได้หรือไม่ มันสายไปแล้วหรือไม่ที่จะจำกัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไว้ในกรอบคิดรัฐชาติ และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐชาติต้องแปรรูปไปเป็นรัฐแบบอื่น เราพร้อมจะพบกับความเปลี่ยนแปลงระดับนั้นหรือสามารถควบคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน


        ความขัดแย้งระหว่างระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกับสังคมโลกาภิวัตน์ ไม่ได้หมายถึงการต่อสู้ระหว่างไทยกับประเทศมหาอำนาจ หรือไทยกับโลกทั้งโลก แต่หมายถึงลักษณะที่อาจเข้ากันไม่ได้ หรือไม่ได้สอดคล้องกันระหว่างระเบียบอำนาจที่เราใช้อยู่กับสังคมที่แปรเปลี่ยนไป และทำให้รัฐไทยเผชิญปัญหาสำคัญคือ การบูรณาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับผลประโยชน์ของส่วนอื่นในสังคม
        ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่การต่อต้านการค้าการลงทุนแบบไร้พรมแดน แต่ต้องจัดวางฐานะของมันให้เหมาะสมและบูรณาการผลประโยชน์ของทุกกลุ่มเข้าด้วยกันแทนที่จะปิดกั้นด้วยจินตนาการเรื่องชาติ ซึ่งต้องบริหารความเป็นธรรมด้วย ซึ่งนายเสกสรร ประเสริฐกุล ถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องบูรณาการสังคมไทยเสียใหม่ ยอมรับการมีอยู่ของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องแทนที่จะปิดบังมันไว้ด้วยจินตนาการเรื่องชาติ
      
         จากนั้นก็หาทางประสานผลประโยชน์ระหว่างทุนข้ามชาติ ทุนไทย แรงงานต่างชาติ ฯลฯ เช่น แรงงานต่างชาติที่เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลังการผลิต ลดต้นทุน และช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในทุนไทยและต่างชาติบางกลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยตรึงราคาค่าแรงของผู้ใช้แรงงานชาวไทยด้วย และปัญหาความไม่ลงตัวในเรื่องการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมืองในสังคมแบบพหุลักษณะ (แยกเป็นกลุ่มย่อย)ซึ่งเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนและข่าวสารแบบไร้พรมแดน ทั้งในแง่ของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มวัฒนธรรม และยังทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นใหม่ๆ ที่มั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วและมหาศาล เกิดกลุ่มทุนใหม่ที่ต้องการมีส่วนแบ่งในอำนาจการเมืองการปกครอง เช่นกัน ทั้งนี้ได้หมดเวลาแล้วที่จะบัญชาสังคมจากบนลงล่าง ซึ่งจะต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสมศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน  เพราะทั้งนี้รัฐไทยยังคงรวมศูนย์สู่ส่วนกลาง ทำให้การเมืองไทยมีลักษณะ Winner Takes All และส่งผลให้ความขัดแย้งของชนชั้นนำมักเดินไปสู่ความรุนแรงอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งในระบบรัฐสภายังไม่เพียงพอต่อการดูแลและปกครองประเทศเพียง อย่างเดียว แต่จะต้องรากฐานของการปกครองตนเองระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาสังคมกับรัฐ และศูนย์กลางกับท้องถิ่น เพื่อประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเอง แต่ทั้งนี้ในระยะเวลาที่ผ่านมาการปกครองที่มีอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลางนั้นยังคงมีปัญหาต่างๆมากมาย เช่น ความอ่อนแอของประชาสังคมระดับล่าง การทุจริตคอรัปชั่น ระบบอุปถัมภ์และความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง เป็นต้น
    
       ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้สังคมไทยอยู่กับสังคมที่เป็นแบบพหุได้และสามารถบริหารประเทศร่วมกับรัฐได้จะต้องดำเนินการตามแนวทางข้างต้นนั้น ทั้งเพื่อลดความขัดแย้งในส่วนกลาง โดยจะต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและคนในสังคมมีส่วนรวมในการตัดสินใจ เพื่อมีให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครองที่ไม่อาจปฏิเสธที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคของโลกาภิวัฒน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น